แคเป็นพืชที่ปลูกง่าย มีอายุไม่นานก็ยืนต้นตาย แคเป็นพืชสายพันธุ์เหมือนพืชตระกูลถั่ว มีเนื้ออ่อน ใบจะเรียวดูคล้ายกับขนนก เมื่อออกดอกเป็นสีขาวถ้าหากเป็นพันธุ์แคขาว และสีแดงเป็นพันธุ์แคแดง เมื่อดอกบานออกแมลงจะมาตอมแล้วจะผสมเกสรระหว่างดอกกัน เมื่อดอกแก่จนกลีบร่วงก็จะมีฝักใกอ่อน ฝักของมันจะมีลักษณะเหมือนถั่วฝักยาวแต่จะแบนกว่า ดอกแคปลูกได้ในทุกพื้นที่ทั้งดินเหนียวและดินปนทรายขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดที่แก่จัด ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเป็นรั้วบ้าน คันนา ริมถนน และในบริเวณบ้าน หรือปลูกไว้เพื่อปรับพื้นที่ให้มีปุ๋ย เพราะใบแคที่ผุแล้ว ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์

ประโยชน์ของแคด้านอาหาร ส่วนที่จะได้รับความนิยมในการนำมารับประทานก็จะได้แก่ ยอดอ่อน ดอกอ่อน ใบอ่อน และฝักอ่อน  ทุกส่วนที่กล่าวมานี้สามารถนำมาลวกน้ำร้อนใช้กินร่วมกับน้ำพริกกะปิหรือน้ำพริกปลาร้า แต่ส่วนใหญ่ดอกอ่อนยังนำไปปรุงอาหารได้หลายชนิด เช่น แกงส้มดอกแค แกงจืดดอกแค ดอกแคสอดไส้ ดอกแคผัดหมูหรือกุ้ง ดอกแคผัดน้ำมันหอย และดอกแคชุบแป้งทอดซึ่งจะใช้กินกับน้ำพริก แต่ในการจะนำดอกแคมารับประทานจะต้องเด็ดเกสรตัวผู้ออกจากดอกแคก่อนเพื่อจะเป็นการช่วยลดความขม ส่วนชาวอีสานนิยมนำดอกและยอดอ่อนมานึ่ง หรือย่าง กินร่วมกับแจ่ว ลาบ ก้อย และนำดอกแคมาปรุงอาหารประเภทอ่อมได้อีกด้วย

สรรพคุณทางยา
แก้ท้องเดินท้องร่วง สมานแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ แก้บิดมูกเลือด แก้ไข้หัวลม(คือก่อนเข้าฤดูหนาว) แก้ริดสีดวงจมูก มีวิตามินซี ซึ่งช่วยอาการหวัดให้ทุเลา ทำให้ผิวสวย ช่วยแก้ไข้ ลดไข้ นอกจากนี้ยังอุดมด้วยสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอได้ ช่วยบำรุงสายตาและต้านมะเร็ง อีกทั้งช่วยเสริมสร้างกระดูก เพราะมีแคลเซียมฟอสฟอรัสสูง
– เปลือกนำมาต้มคั้นน้ำแก้ท้องร่วง แก้บิด แก้มูกเลือด คุมธาตุ ที่สำคัญสามารถช่วยแก้อาการปวดศีรษะได้
– ดอกแคมีคุณสมบัติในการใช้รักษาไข้หัวลมเมื่ออากาศเริ่มเปลี่ยนได้เป็นอย่างดี
– ใบจะมีคุณสมบัติเป็นยาระบาย แก้รอยฟกช้ำโดยการโขลกแล้วนำไปพอกบริเวณนั้น สำหรับคนที่มีเป็นโรคริดสีดวงจมูก
– นอกจากนี้ยังสามารถใช้เปลือก ใบ ราก และดอกมาต้มหยอดจมูกได้

ในประเทศอินเดียมีการให้ใบอ่อนของแคเป็นอาหารเสริมบีตา-แคโรทีนอยด์ พบว่าบุคคลที่ขาดแคโรทีนอยด์ หลังจากได้รับอาหารเสริมใบอ่อนแค (เรียกอะกาทิ-agathi) จะมีปริมาณแคโรทีนในซีรั่มเพิ่มในวันที่ 7

ประเทศอินเดียใช้แคเป็นยาพื้นบ้านดังนี้
– รากสด 20 กรัม เคี่ยวในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที กรองเอารากออกดื่มแก้อาการอักเสบ
– เทน้ำเดือด 1 ลิตรท่วมใบสด 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาทีกรองเอาใบแคออก ดื่มแก้โรคตาบอดกลางคืน ขับพยาธิ บรรเทาอาการลมบ้าหมูและโรคเกาต์
– เทน้ำเดือด 1 ลิตรท่วมดอกแคสด 20 กรัม ทิ้งไว้ 15 นาทีกรองเอาดอกแคออก ดื่มแก้หลอดลมอักเสบ ไซนัสอักเสบ และบำรุงตับ
– ฝักสด 20 กรัม เคี่ยวในน้ำ 1 ลิตร 30 นาที กรองเอาฝักออกดื่มเพื่อระบายท้อง บรรเทาอาการไข้ ปวด เลือดจาง ช่วยความจำและป้องกันการเกิดเนื้องอก
– ใบแคตำพอกบรรเทาอาการช้ำบวม
– น้ำคั้นรากแคเจือน้ำผึ้งใช้ขับเสมหะลดอาการไอ
(สูตรจากประเทศอินเดียทั้งหมดนี้ดื่มก่อนอาหาร เช้า เย็น 1 ชั่วโมงและก่อนนอน เตรียมแต่พอดื่มวันต่อวัน)

การวิจัยของประเทศอินเดียพบว่า สารสกัดเอ-ทานอลของใบแคมีฤทธิ์ป้องกันการถูกทำลายของตับในหนูทดลองที่ได้รับยาเกินขนาดโดยพบปริมาณเอนไซม์ แอสพาร์เทตทรานส์อะมิเนส อะลานีนทรานส์อะมิเนส อัลคาไลน์ฟอสฟาเทสต่ำในหนูที่รับยาและสารสกัดใบแค เอนไซม์ดังกล่าวมีปริมาณสูงในหนูซึ่งรับยาเกินขนาด เนื่องจากตับถูกทำลาย

นอกจากนี้หนูที่ได้รับยาและสารสกัดใบแคมีปริมาณไตรกลีเซอไรด์ โคเลสเตอรอล ฟอสโฟไลพิด และกรดไขมันอิสระต่ำกว่าหนูกลุ่มที่ได้รับยาอย่างเดียวและพบว่าสารสกัดใบแคทำให้ปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในกระแสเลือดหนูกลับสู่สภาวะปกติ ขณะที่ปริมาณสารดังกล่าวในหนูที่รับยามีปริมาณต่ำผลการวิจัยนี้เป็นข้อสนับสนุนข้อมูลแพทย์ทางเลือกที่ใช้ใบแคบำรุงตับและแก้ความผิดปกติของตับได้อย่างดี

 

ขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก www.thaihealth.or.th และ www.doctor.or.th

ข้าวยีสต์แดง
ดอกแค (Katuri Flower)