วัดบ้านก่อ ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานที่มีความงดงามมาก และควรค่าแก่การอนุรักษ์เป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่ได้เข้าไปกราบสักการะและได้สนทนากับพระอธิการทองยศ ฐิตวิริโย แล้ว ทำให้เรายิ่งรู้สึกประทับใจกับความเป็นมาของวัดแห่งนี้เป็นอย่างมาก เลยอยากจะแนะนำให้กับเพื่อนๆ ได้เข้าไปกราบสักการะ และไปชื่นชมความงามของศิลปะวัดบ้านก่อ โดยวัดตั้งอยู่เลขที่ 55 หมู่ที่ 6 ตำบลวังทรายคำ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง วัดบ้านก่อถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ของชาวบ้านก่อ บ้านต้นฮ่าง บ้านป่าฝาง


วัดแห่งนี้ได้ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 25 พระพุทธรูปจะเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย โดยมีพระประธานนั่งอยู่ตรงกลาง และมีอีกองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ด้านซ้าย มีลักษณะก่อปูนปั้นทาสีน้ำมันภายนอก ต่อมาถึงปี 2469 ได้มีการรื้อพระวิหารหลังเก่าแล้วสร้างวิหารหลังใหม่แทน โดยสร้างด้วยอิฐโบกปูน หลังคามุงด้วยแป้นไม้สัก

รูปแต้มในวิหารมีอายุมากกว่า 70 ปี มีอยู่ทั้งภายในและบนผนังวิหาร เป็นเรื่องราวของพุทธประวัติชาดกและชาดกนอกนิบาต หรือนิทานพื้นบ้านอิงชาดก ตัววิหารหันไปทางทิศตะวันออก มีโถงกว้างด้านหน้าก่อนเข้าสู่ภายใน ซึ่งมีรูปแต้มสีฝุ่นเรื่อง “หงส์หิน” ในวิหารมีรูปแต้มเรื่อง “พรหมจักร” “พระเวสสันดร” “พระเตมียะ” “พระมาลัยโปรดโลก” และ “พระพุทธประวัติ”


ภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระวิหารทั้งหมดถูกวาดโดย หลวงพ่อคำป้อ ทุเสนะ ซึ่งขณะนั้นได้ลาสิกขาออกมาเป็นชาวบ้านธรรมดา มีชื่อเรียกว่าพ่อหนานคำป้อ ซึ่งท่านได้ศึกษาจากคัมภีร์ใบลาน แล้วจินตนาการวาดภาพด้วยตัวเอง สีที่ใช้วาดเป็นสีจากธรรมชาติ สีแดงใช้ลูกมะกำ(ลูกมะกาย) ใช้หินสีแดงในน้ำมาฝน, สีน้ำเงิน ใช้ลูกครามที่ใช้ย้อมผ้า, สีเหลือง ใช้เปลือกไม้เต็งและขมิ้นโดยใช้หินสีเหลืองในน้ำมาฝน, สีดำ ใช้ถ่านไฟฉายและหมิ่นหม้อ ส่วนยางที่ใช้ต้มผสมกับสีก็คือไม้กุกโดยถากเปลือกนอกออกมา แล้วต้มกับหม้อดินคนตลอดทั้งวันจนข้นเหนียว แล้วจึงนำมาผสมกับสีแต่ละสีในภาชนะเล็กๆ แล้วนำน้ำะรรมดามาผสมพอประมาณ เพื่อไม่ให้สีติดพู่กัน จึงทำให้ภาพที่วาดออกมาสีติดคงทนอยู่ได้นานปี สำหรับภู่กันบางจุดใช้เปลือกไม้ปอทุบแล้วนำมาวาด หลังจากวาดภาพผนังในพระวิหารบ้านก่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว พ่อหนานคำป้อก็ได้เข้าอุปสมบทอีกครั้งจนมรณภาพลงในปี พ.ศ.2516

นอกจากเราจะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของวัดบ้านก่อแล้ว ท่านพระอธิการทองยศยังได้มอบหนังสือชื่อ “บ้านก่อช้างเผือกเมืองลำปาง” ใ้ห้เรามาศึกษาภูมิหลังของวัดบ้านก่อเพิ่มเติมอีก หากใครอยากได้หนังสือเล่มนี้เวลาไปเที่ยวที่วัดบ้านก่ออย่าได้ลืมขอนะคะ แล้วชาวบ้านที่นั่นก็ให้การต้อนรับด้วยความเป็นมิตรกับทุกคนที่มาเยี่ยมเยือน  สามารถพูดคุยและให้ความรู้เกี่ยวกับวัดบ้านก่อได้ทุกคนเลย ยังไงๆ เราก็อยากฝากวัดบ้านก่อให้เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยว ที่จะให้เพื่อนๆ เอาไว้พิจารณา หากมีเวลาว่างแล้วคิดจะไปทำบุญในโอกาสต่อๆ ไป

ข้าวยีสต์แดง
วัดบ้านก่อ